เทคนิคการสอบเขียน B2 วัดระดับภาษานอร์เวย์ ให้ผ่านฉลุย

เป็นอะไรที่หินมาก ๆ สำหรับการเขียนแสดงความคิดเห็นในระดับ B2 ทำอย่างไรจะได้ B2 มาครอบครองให้ภาคภูมิใจว่า ฉันทำได้นะ! วันนี้ผู้เขียนมีเทคนิคในการเขียนซึ่งนำไปใช้ได้ผล สอบผ่านแน่นอน (ถ้าทำได้ทุกข้อ) ซึ่งคาดหวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะได้ช่วยให้ผู้ที่กำลังจะสอบได้ประสบความสำเร็จกันค่ะ


การสอบเขียนระดับ B2 นั้นมีการวัด 4 หัวข้อ ดังนี้


1. Tekstoppbygging
โครงสร้างและความต่อเนื่องของเนื้อหาซึ่งจะต้องง่ายต่อการติดตามอ่าน ใช้โครงสร้างเป็นขั้นตอนต่อเนื่องได้ในระดับดีมาก    

โดยรวมแล้วเขียนให้อยู่ระหว่าง 250 – 350 คำ สามารถนำการเขียน Essay ของการสอบภาษาอังกฤษมาปรับใช้ได้นะ คือ การเขียนแบบมีโครงสร้าง

ส่วนเกริ่นนำ เช่น ความเป็นมา สาเหตุ ของหัวข้อที่เราจะแสดงความคิดเห็น

ส่วนแสดงความคิดเห็น ให้นำคำอธิบายจากหัวข้อมาเขียน โดยเลือกมาแค่ 2 ส่วนก็พอค่ะ เช่น ข้อสอบให้แสดงความคิดว่ากิจกรรมในเวลาว่างของโรงเรียนควรที่จะฟรีไหม เราก็แสดงความเห็นเจาะไป 2 ส่วน เช่น ส่วนที่ 1 แสดงความคิดเห็นว่าควรจะฟรีเพราะผู้ปกครองจะได้ประหยัด มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่นได้ ส่วนที่ 2 เด็กนักเรียนจะได้มีการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ เนื่องจากประเทศนอร์เวย์มีคนต่างชาติเข้ามาอยู่มากมาย เป็นการเรียนรู้สร้างมนุษยสัมพันธ์ผสมผสานเข้าหากันในสังคม

ส่วนสรุป ซึ่งอาจจะเป็นการสรุปว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือสรุปแบบกลาง ๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นก็ได้

2. Rettskriving og tegnsetting
การเขียนคำศัพท์ได้อย่างถูกต้อง อาจจะมีผิดได้บ้างเล็กน้อย บางทีการที่รีบพิมพ์จนเกินไปก็อาจจะทำให้ผิดได้ เพราะฉะนั้นก่อนส่งต้องตรวจทานให้ละเอียดอีกครั้งค่ะ หรือการใช้เครื่องหมายต่าง ๆ เช่น ใช้ punktum (.) หลังจากจบประโยค รวมทั้งการเขียนเว้นวรรคระหว่างคำศัพท์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

3. Ord og uttrykk
§  ใช้คำศัพท์ที่หลากหลาย เรียกได้ว่า ใช้คำศัพท์ระดับสูงในการเขียนรวมอยู่ด้วย หรือคำศัพท์ที่มีการเชื่อมระหว่างคำ เช่น barnebok, barneoppdragelse, arbeidsoppgave, innvandrerbarn, vanligvis, gjennomsnitt ซึ่งการใช้คำศัพท์นั้นต้องให้เข้ากับบริบทและเนื้อหาด้วยนะคะ

§  การใช้คำศัพท์ที่เชื่อมกับคำบุพบท เช่น å få mulighet til, å ha råd til, å ha god råd til, å ha lyst til, å ta vare på

§  การใช้ uttrykk สำนวนต่าง ๆ ต้องใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับเนื้อหา ที่แนะนำให้จำ เช่น
o   spinke og spare ประหยัดเงิน สามารถนำมาปรับใช้ในหัวข้อที่เกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ เช่น ควรเพิ่มภาษี? น้ำมันรถควรแพงขึ้น? เด็กอายุต่ำกว่า 18 ควรได้รับการดัดฟันฟรี?
o   i ny og ne บางครั้ง บางคราว สามารถปรับใช้ได้เกือบทุกหัวข้อ เช่น บางครั้งเด็กต้องประหยัดเรื่องการซื้อเสือผ้า
o   ha det som plommen i egget สุขสบายดีมาก, รู้สึกดีมาก
o   alfa og omega สิ่งที่สำคัญที่สุด สามารถปรับใช้ได้เกือบทุกหัวข้อ เช่น สิ่งสำคัญที่สุดของการเลี้ยงลูกคือความรัก

ซึ่งการเขียนคำศัพท์นั้นอาจจะผิดได้บ้างเล็กน้อย แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือผู้ตรวจไม่สามารถเข้าใจได้ว่าผู้สอบพยายามสื่อถึงอะไร

4. Grammatikk
§  เรื่องของไวยากรณ์ที่ใครหลาย คน เกิดความรู้สึกขนพองสยองเกล้า ไม่ต้องไปกลัวค่ะ ฝึกฝนให้มาก ๆ ใช้ไวยากรณ์ที่มีการเชื่อมประโยค หรือเชื่อมคำเพื่อทำให้ประโยคมีเนื้อหาสมบูรณ์ซับซ้อนมากขึ้น เช่น fordi, derfor, eller, slik at, i tillegg, til tross for at, dersom, og, men, mens, for, både og, hverken, etter, ettersom, selv om, enda, med mindre, hvis  

§  ารเปลี่ยนรูปของคำกริยา ต้องใช้ให้ถูกต้อง เน้นที่เป็น อดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต หรือรูปแบบอื่น ช่น partisipp อาจจะไม่ค่อยได้ใช้ ถ้าไม่มั่นใจก็ไม่ต้องใช้ เอาที่ชัวร์ ดีกว่าค่ะ สิ่งที่ต้องระวังเพราะเห็นเขียนผิดกันบ่อย ๆ คือ การใช้คำกริยาช่วย (kan, vil, skal, må, bør) กริยาที่ตามหลังต้องอยู่ในรูปกริยา (Infinitiv) โดยตัด å ทิ้งไป เช่น Jeg kan gå. เห็นบางคนเขียน går ตรงนี้ถือว่าเป็นไวยากรณ์พื้นฐาน ถ้าในการสอบผิดที่เดียว ผู้ตรวจอาจจะอนุโลมให้ผ่าน เนื่องจากคิดว่าอาจจะพิมพ์ผิดมั้ง แต่ถ้าทุกประโยคที่ใช้คำกริยาช่วยแบบนี้ผิดหมด ตรงนี้ต้องแสดงความเสียใจด้วยว่า ไม่ผ่านแน่นอนค่ะ

§  เขียนรูปแบบของประโยค (Ordstilling) ให้มีความหลากหลาย เช่น

o   ขึ้นต้นด้วยคำกริยาวิเศษณ์ ช่น Vanligvis går de...
o   ขึ้นต้นด้วย Det เช่น Det er..., Det var…

หรือตัวอย่างอื่น ๆ เช่น

Hvert år blir det stadig flere barn i Norge
Det blir stadig flere barn i Norge hvert år.
På jobben snakker man norsk.
Man snakker norsk på jobben.
Om kvelden pleier man å se på tv.
Man pleier å se på tv om kvelden.

เรื่องของไวยากรณ์อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ต้องไม่ทำให้กรรมการไม่เข้าใจว่าเขียนอะไรมาเนี๊ยะ

สรุป ถ้าทำได้ตามหลักดังที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วนั้น รับรองว่าคุณจะสอบผ่านการเขียน ได้ B2 มาครอบครองแน่นอนค่ะ อ้อ แต่ว่าการสอบก็คือการสอบ บางคนโชคดีได้หัวข้อที่คล้ายกับที่เคยฝึกเขียน จำประโยคได้ สอบผ่าน แต่ว่าก็ยังเขียนผิดเขียนถูก พูดผิดพูดถูกอยู่ ยังไงก็อย่าลืมฝึกทบทวนกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ เรียนรู้ตลอดชีวิตค่ะ



Comment