กฎหมายน่ารู้ของประเทศนอร์เวย์

ได้มีโอกาสไปอบรมเรื่องกฎหมายของประเทศนอร์เวย์มา มีหลายเรื่องที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในนอร์เวย์ คนที่กำลังจะย้ายมาอยู่ หรือคนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศนอร์เวย์มาก ๆ  ขอสรุปตามที่ได้รับการอบรมมาดังนี้ค่ะ


กฎหมายเกี่ยวกับคู่สมรส

- ประเทศนอร์เวย์ยอมรับให้ ผู้ชายแต่งงานกับผู้ชายด้วยกันเอง หรือ ผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิงด้วยกันเองได้

- เมื่อมีการสมรสเกิดขึ้น สินสมรสที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัว (ใช้งานเพียงฝ่ายเดียว) เช่น รถจักรยาน หากฝ่ายที่เป็นเจ้าของต้องการจะขายก็สามารถทำการขายได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากคู่สมรสของตนเอง แต่สินสมรสที่ใช้ร่วมกัน เช่น บ้าน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการจะขาย จะต้องได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย

- หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการหย่า ก็สามารถทำเรื่องขอหย่าได้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผลว่าทำไมจึงต้องการขอหย่า

กฎหมายเกี่ยวกับการหย่า

- ให้ดำเนินเรื่องยื่นเอกสารขอแยกกันอยู่ที่ fylkesmannen

- หลังจากทำการเซ็นต์เอกสารขอแยกกันอยู่เป็นเวลา 1 ปี  การหย่าจึงจะเป็นผล โดยสามารถทำการสมรสกับคู่รักคนใหม่ได้

กฎหมายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กหลังจากการหย่า

- ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายมีลูกที่อายุต่ำกว่า 16 ปีร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำการตกลงเรื่องการดูแลเด็ก โดยจะมีคนกลางที่มีส่วนร่วมในการทำการทำข้อตกลง คือ ศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว (familievernkontoret) ซึ่งหากทำการตกลงกันไม่ได้ โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่ให้การยอมรับ จะต้องดำเนินเรื่องไปที่ศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

- ข้อตกลงเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก มี 3 เรื่องหลัก ดังนี้
1. หน้าที่ของพ่อและแม่ ที่จะต้องทำการเลี้ยงดูลูก
2. เด็กจะพักอาศัยอยู่กับฝ่ายพ่อหรือแม่เป็นส่วนใหญ่
3. เด็กจะอยู่ร่วมกับ พ่อหรือแม่ อย่างไร

- การตกลงเรื่องการเลี้ยงดูเด็กนั้นจะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก

- ฝ่ายที่ดูแลลูกน้อยกว่าจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูลูกให้กับอีกฝ่าย

กฎหมายเกี่ยวกับเด็ก

- หากครอบครัวมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก เช่น เด็กดื้อมาก ก้าวร้าว เป็นต้น สามารถขอความแนะนำและความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์สวัสดิภาพเด็ก (barnevernet) โรงเรียน ศูนย์อนามัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก หรือนักจิตวิทยาเด็กได้

- หากเด็กดื้อมาก เช่น ดึงผมแม่ ตีแม่ ห้ามแม่ทำการตีเด็กกลับโดยเด็ดขาด

- ห้ามทำร้ายร่างกายเด็ก เช่น ตี หยิก ทุบหัว ดึงหู หรือกระทำการใดที่เป็นการเข้าข่ายทำให้เจ็บปวดทางกาย

- ห้ามทำร้ายจิตใจของเด็ก แม้แต่พูดว่า "โง่" กับเด็ก หรือ ข่มขู่ เช่น "ถ้าดื้อรั้นไม่เชื่อฟังก็จะฆ่าให้ตาย"

- พ่อและแม่ต้องปกป้องลูก ไม่ให้อีกฝ่ายมาทำร้ายลูก หากไม่ทำการปกป้องก็จะเท่ากับว่ามีความผิดร่วมกัน

กฎหมายเกี่ยวกับศูนย์สวัสดิภาพเด็ก (barnevernet)

- เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเด็กให้มีความสุข โดยครอบครัวที่มีเด็กสามารถขอคำปรึกษาแนะนำได้

- มาเยี่ยมเยียนตามบ้านเพื่อดูแลเด็ก ให้การแนะนำ เช่น หากเด็กอยากเล่นกีฬา จะสามารถไปเล่นที่ไหนได้บ้าง

กฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรง

- ห้ามใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น

- หากถูกทำร้าย ควบคุม กักขังหน่วงเหนี่ยว ให้ทำการติดต่อกับตำรวจหรือบ้านพักฉุกเฉิน (Krisesenter)

- ห้ามข่มขู่บังคับเพื่อให้ทำตามคำสั่งหรือให้อยู่ภายใต้อำนาจ

- ห้ามทำร้ายทางจิตใจ เช่น การทำให้เราดูไม่ดีในสายตาของคนอื่น

- ฝ่ายหญิงสามารถตัดสินใจได้ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักหรือไม่ โดยฝ่ายชายไม่สามารถบังคับได้หากฝ่ายหญิงไม่เต็มใจ ไม่ว่าจะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กันมาแล้ว 1 ปีก็ตาม โดยกฎหมายครอบคลุมทั้งคู่รักที่แต่งงานและไม่ได้แต่งงานกัน

- การแจ้งความสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การบอกเล่า หรือ เขียนเป็นเอกสาร

- เอกสารสั่งห้ามเข้าใกล้ เช่น ห้ามบุคคลหนึ่งเข้าใกล้เราในระยะ 3 เมตร จะมีการระบุระยะเวลาอย่างชัดเจน เช่น 3 เดือน จากนั้นอาจจะต่ออายุหรือสิ้นสุดคำสั่งก็ได้

- ในกรณีที่รู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัยสามารถขออุปกรณ์สัญญาณความช่วยเหลือได้ที่ตำรวจ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน

- ในกรณีที่ถูกทำร้ายสามารถขอสินไหมทดแทนได้ที่ สำนักงานสำหรับการชดเชยการบาดเจ็บทางอาญา (Kontoret for Voldsoffererstatning)

กฎหมายเกี่ยวกับวีซ่า

- หากญาติที่ไทยต้องการมาเยี่ยมเยียนที่ประเทศนอร์เวย์จะต้องทำการขอวีซ่า schengen visum โดยมีเงื่อนไข คือ
1. passport ต้องไม่หมดอายุ
2. เอกสารยืนยันว่าจะกลับประเทศไทยอีกครั้งแน่นอน
3. ตั๋วเครื่องบินขากลับ
4. มีจำนวนเงินเพียงพอที่สามารถพักอาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์ได้ในระหว่างการเยี่ยมเยียน หรือฝ่ายที่อาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์เป็นผู้การันตีให้
5. ประกันภัย


- familieinnvandring คือวีซ่าที่ออกให้กับคนในครอบครัว เช่น คู่รัก ลูก ที่จะเดินทางมาอาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์ โดยฝ่ายชาวนอร์เวย์จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 246,000 โครนต่อปี โดยสามารถขอวีซ่าได้ที่สถานทูตไทยในประเทศไทย

การขอวีซ่าถาวร มีหลักสำคัญดังนี้

1. ต้องอาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์ 3 ปี ขึ้นไป
2. วีซ่าก่อนหน้านั้นจะต้องบ่งบอกว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์ถาวร เช่น วีซ่าทำงาน ทั้งนี้ไม่รวมวีซ่าท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน
3. จะต้องเรียนภาษานอร์เวย์อย่างน้อย 600 ชั่วโมง แต่ถ้าสามารถสอบภาษานอร์เวย์ผ่านในระดับ 2 ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษานอร์เวย์ครบ 600 ชั่วโมง
4. จะต้องไม่ออกนอกประเทศนอร์เวย์เกิน 7 เดือน
*****ซึ่งหากได้รับวีซ่าถาวรแล้วจะต้องทำการแสตมป์ทุก ๆ 2 ปี

- กรณีที่ทำการหย่าหลังจากแต่งงานไม่ครบ 3 ปี ถ้าไม่มีลูกด้วยกัน ฝ่ายที่เป็นคนไทยจะต้องกลับประเทศไทย แต่มีข้อยกเว้น คือ หากถูกทำร้ายหรือมีปัญหาหลังจากการหย่า เช่น ถูกประนามจากสังคม หรือสังคมไม่ยอมรับ ก็สามารถดำเนินเรื่องเพื่อขออาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์ต่อได้ หรือถ้ามีงานประจำที่มั่นคงก็สามารถให้นายจ้างออกวีซ่าทำงานให้ได้

Comment